ไม่นานมานี้ Credit Suisse ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง Global Wealth 2014 ซึ่งมีสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “equality” หรือความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความรวยนั้นกลับกระจุกตัวที่คนรวยไม่กี่คนเพิ่มขึ้น รายงานฉบับนี้มีความยาวพอสมควร และมีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจทีเดียว แต่ก็ขอหยิบสถิติในบางเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ความเสมอภาค” มาเล่าให้ฟัง 6 ข้อ
1. คนรวยที่สุด 10% ของประเทศ มีทรัพย์สินคิดเป็นกี่ % ของทรัพย์สินทั้งหมด
ตารางนี้ทำให้เราทราบว่า ญี่ปุ่น และเบลเยี่ยม มีความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือ คนรวย 10% มีทรัพย์สินรวมกันน้อยกว่า 50% ของทรัพย์สินทั้งหมด ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็น emerging market ส่วนใหญ่ รวมทั้งไทย อยู่ในประเภท “เสมอภาคน้อยมาก” คือ มีทรัพย์สินรวมกันเกินกว่า 70% (ของไทยตัวเลขอยู่ที่ 75%)
2. คนรวยเขาอยู่ที่ไหนกัน?
เมื่อดูภาพที่ 2 จะเห็นว่า คนรวย (ในที่นี้คือ ผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้าน USD ขึ้นไป หรือราว ๆ 30 ล้านบาท) อยู่ในอเมริกาถึง 41%! นั่นเป็นตัวเลขที่สูงมาก รองลงมาห่าง ๆ คือ ญี่ปุ่น (8%) ฝรั่งเศส (7%) เยอรมนี (6%) สหราชอาณาจักร (6%) แล้วก็ตามด้วยประเทศตะวันตกต่าง ๆ จนมาถึงจีน ตัวเลขอยู่ที่ 3%
3. “คนรวย” จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว
ตัวเลข “คนรวย” (มีมากกว่า >USD 1 ล้าน) จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วที่มีชีวิตความเป็นอยู่ดี เมื่อดูสถิติการเปลี่ยนแปลงตัวเลขของคนรวยในสหรัฐฯ จากปี 2013 ถึงปี 2014 เพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น ตัวเลขคนรวยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 1.6 ล้านคน แน่นอนว่าไม่ใช่เป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นขนาดนั้น แต่เป็นการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ UK เองก็ไม่น้อย มีคนรวยเพิ่มขึ้นถึง 5 แสนคนในปีเดียว (นั่นคิดเป็น 1% ของประชากร UK เลย)
4. บางประเทศเจริญขึ้น แต่จำนวนคนรวยกลับลดลง!?
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่อาจจะเรียกได้ว่า ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้สุขสบายนัก แม้จะเป็นประเทศ emerging market อย่างอินโดนีเซีย ซึ่งหากดูสถิติจำนวนคนรวยสัญชาติอินโดนีเซียแล้วเพิ่มขึ้น แต่คนที่พำนักในอินโดนีเซียจริง ๆ กลับลดลง เช่นเดียวกับตัวเลขคนรวยในรัสเซีย ตุรกี อาร์เจนดิน่า และ (น่าแปลกใจเล็กน้อย) นอร์เวย์ (เพราะความหนาวหรือภาษีก็ไม่รู้สิ)
5. แล้วคน “รวยเวอร์ ๆ” เขาอยู่ที่ไหนกัน
ดูสถิติ “คนรวย” แล้ว มาดูสถิติ “คนรวยเวอร์ ๆ” กันดีกว่า คนพวกนี้ คือคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า USD 50 ล้าน หรือ 1,500 ล้านบาทขึ้นไป (อันนั้นคือขั้นต่ำ) แล้วดูจำนวนที่อยู่ในสหรัฐฯ สิ มีมากถึง 6,200 คน (โดยกลุ่มที่มีรวยที่สุด คือ กลุ่มที่มีทรัพย์สิน USD 1 พันล้าน หรือ 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป) แซงที่สองคือ จีน ที่มีคนรวยเวอร์ ๆ ราว ๆ 800 คน ตามด้วยประเทศแถบยุโรปตะวันตก
6. เอเชีย-โอเชียเนีย เป็นอย่างไร
มาใกล้ตัวกันบ้างที่แถบเอเชีย-โอเชียเนีย กับกราฟตัวเลขการเปลี่ยนแปลงจำนวนเศรษฐี ระหว่างปี 2000 กับปี 2014 ซึ่งจู่ ๆ จีนกับออสเตรเลียก็มีคนรวย (>USD 1 ล้าน) เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นพอควร แม้ว่าจะไปกินสัดส่วนพื้นที่ของญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้แปลว่า คนญี่ปุ่นจะรวยน้อยลง แค่คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลงเท่านั้นเอง
แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ได้โฟกัสที่รากเหง้าของความไม่เสมอภาค หรือการแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นแบงค์ผู้ทำ research แต่สถิติเหล้่านี้ก็บ่งบอกได้หลาย ๆ อย่าง อาทิ แนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อชนชั้นกลางในประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น นิวยอร์ก ลอนดอน หรือปารีส ในตอนนี้ อสังหาริมทรัพย์ใจกลางเมืองที่ราคาแพงกว่า 80-90% นั้น กลับกลายเป็นของต่างชาติไปแล้ว และชาว local เอง กลับต้องย้ายไปอยู่นอกเมืองที่ราคาถูกกว่า ประเด็นนี้ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปยังสังคมพหุวัฒนธรรมของเมืองใหญ่ ๆ ในโลกอีกด้วย
อ่านรายงานฉบับเต็มของ Credit Suisse ได้ที่ : https://publications.credit-suisse.com/tasks/render/file/?fileID=60931FDE-A2D2-F568-B041B58C5EA591A4