คำว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community: AEC) คงเป็นสิ่งที่หลายคนได้ยินบ่อย ๆ แต่หลายคนก็คงได้ยินว่า “AEC ไม่ได้เป็นเพียงแค่เสาเดียวของประชาคมอาเซียนเท่านั้น” ว่าแต่ประชาคมอาเซียน คืออะไร?
คาดว่าเขาคงไม่ได้ตั้งใจให้อาเซียนมีแค่ 5 ประเทศหรอก..
ประชาคมอาเซียน คือ การรวมตัวกันในระดับที่เพิ่มพูนขึ้นของประเทศในอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations) ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้คำว่า “association” (สมาคม) เท่านั้น เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้หมายถึง การรวมตัวกันเป็นประชาคมบนรากฐานของกฎเกณฑ์ (rules-base community) มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centred) มีการเชื่อมโยง (connectivity) ทั้งทางกายภาพ กฎระเบียบ และประชาชน และการมุ่งเน้นการปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้น (community of action) ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคง การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรม
ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสา
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
ว่าแต่ 3 คำนี้…แปลว่าอะไรล่ะ!!
ขอยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก่อน เนื่องจากเป็นที่คุ้นหูกันมาแต่เดิม นั่นคือ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
จุดมุ่งหมายของ AEC คือการสร้างประชาคมที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงร่วมกันว่าจะส่งเสริม..
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว
- เปิดเสรีการค้า : การยกเลิกภาษีในอาเซียนทุกรายการ (ยกเว้น สินค้าอ่อนไหว ซึ่งไทยมี 4 ชนิด คือ ไม้ตัดดอก มันฝรั่ง กาแฟ และเนื้อมะพร้าวแห้ง และสินค้าอ่อนไหวสูง ซึ่งไทยไม่มี) การขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า ศุลกากร
- เปิดเสรีการค้าบริการ : ขจัดข้อจำกัดต่อการค้าบริการอย่างมีนัยสำคัญ อนุญาตการถือหุ้นของคนสัญชาติอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70
- เปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลง ACIA : คุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ อำนวยความสะดวก ลดข้อจำกัดในการเข้ามาลงทุนในสาขาสำคัญ
- เปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงาน 8 สาขาอาชีพ (แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ช่างสำรวจ การบริการท่องเที่ยว) ซึ่งคุณสมบัติเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของสภาวิชาชีพทั้ง 8 สาขา
- เปิดเสรีด้านทุนที่มากขึ้น : อนุญาตการเคลื่อนย้ายเสรีเงินทุนที่มากขึ้น (สังเกตว่า อันสุดท้ายนี้เป็น “freer” ไม่ใช่ “free” เพราะด้านทุนยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายอยู่มาก)
2. การไปสู่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน
- พัฒนานโยบายด้านการแข่งขัน : เพิ่มขีดความสามารถ
- ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ : ทรัพย์สินทางปัญญา การขนส่งทางบก น้ำ อากาศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (การเชื่อมโยงความเร็วสูง) พลังงาน เหมืองแร่
- การหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- พัฒนาด้าน e-commerce : ปรับประสานโครงสร้างพื้นฐานกฎหมายสำหรับการทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ การยอมรับร่วมลายเซ็นอิเล็กทรินิกส์ในอาเซียน
3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม
- พัฒนา SMEs
- สร้างขีดความสามารถสำหรับภาครัฐและเอกชนในการพัฒนา/ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
- สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันต่อปฏิสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับภายนอกอาเซียน : บรรลุท่าทีในกรอบเจรจากับประเทศคู่เจรจาร่วมกัน
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในเครือข่ายอุปทานโลก : รับหลักปฏิบัติสากลที่ดีและมาตรฐานในการผลิต ยกขีดความสามารถในการผลิต
สรุปว่า มันคืออะไรล่ะ : AEC ก็คือการรวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ “Single Market” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขายสินค้า ที่ภาษีเป็น 0 แต่ว่า อาเซียนยังไม่ได้พัฒนาไปในลักษณะ European Community คือ ยังไม่ได้ 100% ไม่ใช่คิดจะเดินทางไปทำงานที่ไหนก็ไป ตั้งรากฐานบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ตั้ง หรือจะลงทุนทำอะไรที่ประเทศไหนก็ได้ ยังคงมีอุปสรรคอยู่ แต่ว่า “ลดลง” เท่านั้นเอง
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) คืออะไร?
1. ประชาคมที่มีกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน
- ส่งเสริมความเข้าใจและยอมรับในระบอบการเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
- ส่งเสริมธรรมาภิบาล นิติธรรม สิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- การสร้างกฎเกณฑ์ร่วม เช่น การปรับกรอบสถาบันให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน
2. ภูมิภาคที่มีความเป็นเอกภาพ สงบสุข และมีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ
- ป้องกันความขัดแย้งและส่งเสริมมาตรกาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
- สร้างสันติภาพหลังการขัดแย้ง : ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- ร่วมกันแก้ปัญหาภัยต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่ : อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย การร่วมมือด้านภัยพิบัติ
3. ภูมิภาคที่มีพลวัตร (dynamic) และมองไปยังโลกภายนอก ในโลกที่มีการรวมตัวและพึ่งพาอาศัยกันยิ่งขึ้น
- ส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
- ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนกับประเทศภายนอก
- เสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นพหุภาคีที่เป็นความกังวลร่วมกัน
สรุป APSC คืออะไร? ก็คือการร่วมมือมากขึ้นด้านการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เป็นปึกแผ่นมากขึ้น ฟังดูอาจจะไม่ได้มีอะไรที่ประชาชนจับต้องได้ทันที แต่เป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการส่งเสริมค่านิยมเหล่านั้นร่วมกัน และร่วมมือกันป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ โดยเฉพาะภัยในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มาในรูปแบบสงครามเหมือนเดิม แต่มาจากปัจเจกบุคคล องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หรือแม้แต่ภัยพิบัติ
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) คืออะไร?
1. การพัฒนามนุษย์
- ให้ความสำคัญกับการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม
- ส่งเสริม ICT วิทยาศาสตร์และเทคโนลยีประยุกต์
- ส่งเสริมทักษะในการประกอบการให้แก่สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
- พัฒนาศักยภาพของระบบราชการ
2. การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
- ขจัดความยากจน
- ความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยทางอาหาร
- การดูแลสุขภาพ การควบคุมโรคติดต่อ อาเซียนที่ปลอดยาเสพติด
3. ความยุติธรรมและสิทธิ
- ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิสำหรับสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
- คุ้มครองสิทธิแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน
- ส่งเสริม CSR
4. ส่งเสริมความยั่งยินด้านสิ่งแวดล้อม
5. การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity)
- ส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนและความรู้สึกของความเป็นประชาคม
- อนุรักษ์ ส่งเสริม สร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรม
6. ลดช่องว่างทางการพัฒนา ระหว่างสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ กับอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)
สรุป ASCC คืออะไร? ถ้าให้สรุปย่อ ๆ ASCC แบ่งเป็น 2 ด้านหลัก ๆ คือ การส่งเสริม ASEAN Identity (ด้านวัฒนธรรม) และการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนในสังคม และระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน สามารถกล่าวได้ว่า เสานี้ของอาเซียนจะช่วยส่งเสริม AEC แต่ไม่ใช่เน้นแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นการเติบโตแบบเท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม (Inclusive Growth) และการเติบโตแบบยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Growth)
พอจะเข้าใจประชาคมอาเซียนมากขึ้นไหม…